ภาพนู้ด ให้ร่างเปลือยเปล่งเสียงที่อยากสะท้อน : แมท-โศภิรัตน์
'ภาพนู้ด' ให้ร่างเปลือยเปล่งเสียงที่อยากสะท้อน
ราวสองหรือไม่ก็สามปีก่อน ขณะเลื่อนฟีดเฟซบุ๊ก ซึ่งพลันสะดุดหยุดตรงภาพถ่ายนู้ดที่ใครสักคนแชร์ไว้ ผมไม่รีรอที่จะคลิกเข้าไปยังต้นทาง ภาพถ่ายแปลกตาปรากฏอยู่บนไทม์ไลน์ ความแปลกตาน่าสนใจที่ว่านี่มิได้เป็นเพราะบุคคลในภาพเปลือยเปล่าเพียงอย่างเดียว หากยังรวมถึงท่าทีเชิงสัญลักษณ์ชวนนิ่งนึก แฟนเพจนั้นชื่อ ผู้หญิง ถือกล้อง ชื่อเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่เมื่ออ่านย้ำกลับรู้สึกถึงนัยของคำประกาศที่แสดงตนท้าทายมาตรฐานความคิดความเชื่อเก่าอยู่ในที
ใช่-เธอคือผู้หญิง ใช่-เธอถือกล้อง และก็ใช่อีก-เธอถ่ายภาพนู้ด
แมท-โศภิรัตน์ ม่วงคำ หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “ผู้หญิง ถือกล้อง” คือศิลปินถ่ายภาพนู้ดที่กำลังถูกพูดถึงและน่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมทางศิลปะ หรือแง่มุมทางขนบธรรมเนียมแบบอนุรักษนิยม อีกทั้งข้อครหาแคลงใจจากผู้ฝักใฝ่ศีลธรรมดั้งเดิม จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อแรกเริ่มนำผลงานออกแสดง สิ่งเหล่านี้คือหนึ่งในแรงปะทะที่เธอต้องรับมือ
หากก็เหมือนผู้มาก่อนกาล เหมือนพืชผลที่รอการเก็บเกี่ยว ในช่วงขวบปีหลังที่เรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมกลายเป็นกระแสหลักของสังคม ซึ่งช่วยขับเน้นวาววับที่มีอยู่ก่อนแล้วในผลงานให้ยิ่งเปล่งประกาย คำถามทั้งหลายที่เคยโถมถาถึงเธอจึงถูกผลงานของเธอโยนกลับไปตั้งคำถามกับผู้เคลือบแคลงสงสัย อาจแตกต่างกันตรงที่คำถามที่เกิดจากผลงานของเธอไม่ได้มีความมาดมั่นที่จะต้องได้รับคำตอบสุดท้าย หากกลับมุ่งหวังถึงการชักชวนให้ครวญคิด เป็นเสียงสะท้อน เป็นการทำความเข้าใจ และเป็นการต่อยอดสู่คำถามอื่น
ศิลปินพำนัก
หลังจากติดตามผลงานของพี่แมท ทั้งทางออนไลน์ ทั้งออกไปชมนิทรรศการในกรุงเทพฯ แต่ผมก็ยังไม่เคยพบเธอเลยสักครั้ง แถมนิทรรศการที่ไปชมล้วนเป็นการแสดงผลงานร่วมของศิลปินภาพถ่ายหลายท่าน จนกระทั่งเมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา ผมได้ทราบว่าพี่แมทกำลังมีนิทรรศการภาพถ่ายเดี่ยวที่จังหวัดขอนแก่น และทุกสิ่งก็พลันรวดเร็วราวกับสปีดชัตเตอร์ที่จับการโบยบินของนกให้นิ่งค้างบนภาพถ่าย ผมตัดสินใจทันที จับจองที่นั่งบนรถไฟด่วนพิเศษ ผ่านวันปีใหม่มาเพียงสัปดาห์เดียว ผมก็ยืนอยู่เบื้องหน้าภาพถ่ายของเธอ
วันนั้นตัวเมืองขอนแก่นอากาศหนาว ผมออกจากที่พักก่อนเวลา เต็มใจเดินตากแดดให้ร่างกายอบอุ่น จนถึงเดอะวอลล์ สถานที่จัดแสดงผลงาน แม้จะอ่านถ้อยแถลงของศิลปินมาแล้ว แต่ก็ยังสะดุดตากับชื่อนิทรรศการบนโปสเตอร์ “Live Life in Your Own Skin”“สดุดีอีสาน” ไม่ไกลจากตรงนั้นผมเห็นพี่แมทกำลังคุยกับใครสักคน อย่างที่บอกเราไม่เคยพบกันมาก่อน แต่ผมรู้ทันทีว่าผู้หญิงผมยาวสวมแว่นตาดำคนนั้นคือเธอ เมื่อเดินเข้าไปแนะนำตัว ไม่นานความประหม่าก็คลายลง พี่แมทไม่เหมือนศิลปินที่คนทั่วไปอาจนึกภาพถึงความเคร่งขรึม ตรงกันข้ามดวงตาของเธอยิ้มอยู่เสมอ นั่นถือเป็นโชคดีของผม เมื่อถึงเวลานัดสัมภาษณ์ เรานั่งกับพื้นในแกลเลอรีที่ใช้จัดแสดงงาน รอบล้อมด้วยสายตาและเสียงจากภาพถ่าย
“ผมเห็นในแผ่นโปรโมตมีคำว่า Artist in Residence มันคืออะไรครับ”
“Artist in Residence คือศิลปินพำนักค่ะ อย่างพี่เป็นคนกรุงเทพฯ พี่ก็ไปอยู่ต่างถิ่น คือไปพำนักต่างถิ่นแล้วก็ทำงาน เป็นการทำงานแบบลงพื้นที่ มีการรีเสิร์ช และทำงานกับผู้คนในท้องถิ่น”
“เป็นโปรเจกต์ของพี่แมทคนเดียว ไม่ได้ทำร่วมกับศิลปินท่านอื่นใช่ไหมครับ”
“ใช่ค่ะ ของพี่คนเดียว นี่คือความฝันของการได้เป็น Artist in Residency เพราะว่าชอบเจอวัฒนธรรมใหม่ ชอบเจอผู้คน เรารู้สึกว่าการพบเจอสิ่งใหม่เป็นเรื่องที่เราสามารถทำงานได้ และก็ไม่รู้สึกเบื่อ”
ไม่รู้สึกเบื่อ-คำนี้ใช่เลย เพราะระหว่างที่พูดคุย บ่อยครั้งผมมักสัมผัสได้ถึงความรักในงานผ่านแววตาของผู้หญิงที่อยู่เบื้องหน้า พี่แมทเล่าต่อว่าที่จริงความตั้งใจหลักของเธอคือการไปเป็นศิลปินพำนักที่ต่างประเทศ เธอย้ำว่าหลงใหลในความหลากหลาย แต่พอมีโควิด-19 ก็ต้องพักไว้ก่อน
“แสดงว่าตอนนี้ทำในประเทศ และจะไปทั้งสี่ภาค”
“ใช่ค่ะ”
“ขอนแก่นคืองานชุดที่สองในโปรแกรมที่พี่ว่า”
“เป็นงานที่สองค่ะ”
“เหลือที่จังหวัดไหนบ้าง”
“ปีนี้จะมีอีกงานที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และก็ไปที่กรุงเทพฯ ปีหน้า”
เมื่อพูดถึงกรุงเทพฯ พี่แมทเล่าเสริมว่า ด้วยความที่มันคือบ้าน เธอจึงคิดว่าอาจไม่ได้ทำงานอยู่บ้าน แต่จะเป็นการนำผลงานทั้งสี่ภาคไปแสดงรวมให้คนกรุงเทพฯ ดู และที่แพลนไว้คือต่อให้กินนอนในแกลเลอรีไม่ได้ก็จะทำให้เหมือนเป็นที่ทำงาน สร้างให้เป็นไลฟ์เพอร์ฟอร์แมนซ์ ที่แสดงให้เห็นการทำงานจริง
เมื่อผมถามถึงเหตุผลที่ทำให้สนใจเรื่องผู้คน และความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ พี่แมททวนคำถามของผม และตอบหลังจากนั้นแทบจะทันที
“เพราะเราชอบมนุษย์ เราว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่เข้าใจยาก”
“สำหรับตัวพี่เปรียบมนุษย์เหมือนหนังสือ ซึ่งเราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ การพบเจอคนหนึ่งคนมันไม่ได้หมายความว่าดีหรือไม่ดี แต่มันหมายถึงว่าเขาเป็นใคร เขาทำอะไร ผ่านชีวิตแบบใดมา มันน่าสนใจตรงนี้ วัฒนธรรมเขาเป็นยังไง”
“ถ้าพูดถึงการทำงาน ศิลปินย่อมมีแนวทางของตัวเอง ซึ่งพี่ต้องเปิดรับวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ตรงนี้พี่ทำยังไง”
“เราเป็นช่างภาพนู้ด หลักๆ คือต้องการให้คนเอาร่างกายตัวเองมาพูดถึงตัวเอง เวลาที่ไปไหน-ไปพบใคร พี่จะทำตัวเหมือนแก้วเปล่า เช่น คนที่นี่เขากินอะไร ใช้ชีวิตยังไง คือเราไปเป็นแก้วเปล่าเพื่อที่จะซึมซับเขาให้มากที่สุด และถ่ายทอดออกมาโดยที่ไม่ได้แคร์ว่ามันจะต้องเป็นแสงธรรมชาติ แสงนีออน เหมือนที่ช่างภาพเขาแคร์กัน ไม่ใช่เลย”
แสงบนผิวหนัง
สี่โมงเย็น แสงแดดอ่อนส่องเข้ามาในแกลเลอรี ผมกำลังฟังพี่แมทเล่าที่มาของการเป็นช่างภาพ เธอบอกว่าเธอเริ่มต้นจากการดูแค่นู้ดที่สวยงาม ก่อนยกตัวอย่างให้ดูโดยการยื่นแขนข้างขวาให้แดดตกกระทบบนผิว และถามผมว่าเห็นไหมแสงมันสวย
ภาพส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “Live Life in Your Own Skin”
ส่วนหนึ่งเพราะงานที่ทำค่อนข้างเครียด พี่แมทบอกว่าเมื่อก่อนเธอทำงานเป็นเซลล์มาร์เก็ตติ้งเมเนเจอร์ คอยวิเคราะห์การตลาดและระบบ เลยอยากหาอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อสร้างสมดุลไม่ให้ตัวเองเครียดเกินไป คนอื่นฟุ้งซ่านอาจไปวัด แต่เธอไม่รู้สึกว่าวัดคือความสงบ กลับชอบเข้าแกลเลอรี
“อย่างที่หลายคนรู้ เราไม่ได้เรียนถ่ายภาพ ไม่ได้จบศิลปะ แต่การทำสมาธิไม่ให้ตัวเองฟุ้งซ่านของเราคือการมองงานหนึ่งงาน นั่นจึงทำให้เราสนใจศิลปะ ซึ่งเราเริ่มจากความสวยงามของแสงบนผิวหนังมนุษย์ เราชอบผิวหนังมนุษย์ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบคิดเยอะเลยทำให้เราเกิดความสงสัยว่า ทำไมเขาห้ามถ่ายรูปตอนเที่ยงล่ะ ก็อยากจะถ่าย ทำยังไงถึงจะถ่ายได้ ซึ่งไปๆ มาๆ มันก็ลามปามไปเรื่องธรรมชาติ เรื่องผู้คน จนตัดสินใจลองถ่ายภาพนู้ด ซึ่งเริ่มจากการมีโจทย์ในหัวก่อน จากนั้นค่อยรวบรวมข้อมูล ไม่ว่าเชิงลึกหรือไม่ลึกก็ตาม บางครั้งอาจเป็นแค่ความรู้สึกที่อยากปลดปล่อยออกไปเร็วๆ ก็มีเหมือนกัน”
เธอบอกต่อว่าเมื่อก่อนเคยนอยด์ ตอนกลับมาเมืองไทยแรกๆ และเริ่มทำงานนู้ดใหม่ๆ ได้รับคำพูดเชิงว่า
เป็นผู้หญิงทำไมทำงานแบบนี้ คุณกร้านโลกเหรอ ทำไมถึงมาถ่ายนู้ด
“มันค่อนข้างหนักสำหรับพี่ จนเราคิดว่าหรือที่ทำอยู่มันผิด แล้วเราก็ Depress กลายเป็นว่าเรายังถ่ายภาพอยู่แต่ไม่ให้ใครดูแล้ว รู้สึกว่าถ้าไม่เข้าใจก็ไม่ต้องดู แต่ว่าการแสดงผลงานเมื่อสามปีที่แล้วซึ่งเป็นงานนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก มีคนมาดูงานน่าจะประมาณห้าร้อยคน ซึ่งทำให้เราแบบ อ้าว! อ้าว! ที่ผ่านมาเราคิดไปเองเหรอ ที่คิดว่าคนไม่เข้าใจนั่นเราคิดไปเองเหรอ เพราะสุดท้ายแล้วทุกครั้งที่มีนิทรรศการก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่คนที่เข้ามาดูนั้นคือกำลังใจให้เราทำงานต่อไป”
ศิลปะหรืออนาจาร
ทุกงานที่เธอทำ พี่แมทบอกว่าตั้งใจก้าวข้ามความสวยหรือไม่สวย ซึ่งช่วงแรกที่ถ่ายภาพนู้ดจะมีคนถามว่า นี่คืองานศิลปะหรืออนาจาร
“เราไม่ได้จบศิลปะ จึงพยายามค้นหาว่าไอ้ศิลปะหรืออนาจารมันคืออะไร ซึ่งที่ผ่านมาก็จะเจอคำอธิบายสั้นๆ แบบนู้ดที่เป็นศิลปะคือไม่ก่อให้เกิดอารมณ์ นู้ดที่เป็นอนาจารคือก่อให้เกิดอารมณ์ อะไรประมาณนี้วนๆ อยู่สองสามบรรทัด”
“แล้วพี่เชื่อไหม”
“ไม่เชื่อ”
“ผมก็ไม่เชื่อเหมือนกัน”
ผมถามเธอต่อว่า หากมีคนมาดูงานภาพถ่ายนู้ดของเธอแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ เธอจะรู้สึกว่ามันกลายเป็นปัญหาไหม เธอบอกว่านั่นไม่ใช่ปัญหา และมันก็อาจเกิดขึ้นได้ตามกลไกร่างกายของมนุษย์ ผมจึงถามต่อไปว่า อย่างนั้นภาพนู้ดยังเป็นงานศิลปะไหม หลังจากผมถามคำถามนี้ พี่แมททำเสียงจิ๊ แต่ไม่ใช่เสียงแบบรำคาญ ค่อนไปทางเกาถูกที่คัน เธอบอกกับผมต่อว่า ตอนนี้ไม่ได้อยากพูดถึงว่าอะไรคือศิลปะหรืออนาจารอีกแล้ว
“พี่ขี้เกียจต่อล้อต่อเถียงว่างานฉันเป็นศิลปะหรืออนาจาร เพราะก้าวข้ามตรงนั้นมาแล้ว พี่เลือกใช้เวลาพิสูจน์ ทำงานไปเรื่อยๆ ทำสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ตอนนี้ฉันสนใจอะไรก็ถ่ายเป็นงาน เพียงแต่พี่คิดว่าความสามารถของพี่คือเป็นคนที่รับสารอะไรมาก็แล้วแต่ สามารถแปลงเป็นนู้ดได้หมดเลย เพราะพี่ทำงานภายใต้กรอบคิดบางอย่าง”
ผมคุยกับเธอต่อถึงมุมมองบางอย่างส่วนตัวว่า ภาพนู้ดเหมือนภาษาหรือสำนวนที่คนไม่คุ้น ทั้งที่มันคือเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่ง เพียงแต่อาจมีบางคนไม่เคยเห็น หรือเห็นก็ไม่บ่อยนัก จึงกลายเป็นสิ่งผิดเพี้ยนไปจากขนบธรรมเนียมที่รับรู้ และมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว กว่าสังคมจะเรียนรู้ว่ามีศิลปะแขนงนี้อยู่เลยต้องใช้เวลา ก่อนเอ่ยถามออกไปว่า พี่แมทคิดอย่างไรกับสิ่งที่ผมมอง
“มันอยู่ที่เราเป็นคนไทย (หัวเราะเบาๆ) ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพนู้ดมันผูกติดกับเรื่องคุณงามความดี ศีลธรรม จริยธรรมในบ้านเรา มันคือการที่เมื่อคุณแก้ผ้า คุณกำลังพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ ที่ผ่านมาเวลาเห็นภาพนู้ดสักภาพจะพูดแค่สองอย่าง ศิลปะหรืออนาจาร แต่การที่พี่ไม่ได้มาจากสายศิลปะ พี่เป็นสายที่มาจากนักวิเคราะห์ พี่เป็นคนที่อ่านเยอะ อ่านทั้งภาษาไทย อังกฤษ และเยอรมัน แล้วเอาข้อมูลพวกนี้มาตกตะกอนเอง เราเลยรู้แล้วว่าเพราะคนพูดกันอยู่แค่ศิลปะหรืออนาจารไง มันเลยมีส่วนไปโยงกับเรื่องเซ็กซ์โดยอัตโนมัติ
“สิ่งที่พี่ทำมาตั้งแต่ต้นจึงเป็นเรื่องของการหาบริบทภาพนู้ดในแบบอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ศิลปะหรืออนาจาร เช่น เราเห็นขบวนเรียกร้อง Free Nipple ในหนังสือพิมพ์ ภาพนี้เป็นศิลปะไหม-ก็ไม่ แต่เป็นอนาจารหรือเปล่า-ก็ไม่ หรือภาพเปลือยที่คุณหมอไว้ใช้เรียนเรื่องสรีรวิทยาหรือกายวิภาค มันก็ไม่ใช่ทั้งศิลปะและอนาจารถูกไหม สิ่งที่จะสื่อคือภาพนู้ดหนึ่งภาพมันไม่ใช่แค่นั้น มันขึ้นอยู่กับบริบท แล้วหน้าที่ของพี่ก็คือพูดถึงและค้นหาบริบทของภาพนู้ดที่มากกว่าศิลปะหรืออนาจาร”
“พี่บอกว่าให้ก้าวข้ามนิยามของทั้งศิลปะและอนาจาร แล้วพี่คาดหวังให้มันเป็นอะไร” ผมถามเธอกลับ
“พี่ต้องการโยนคำถามกลับไปที่สังคม คือเราเป็นคนทำงานเพื่อให้คนตั้งคำถามกับตัวเองว่าสิ่งที่คุณเห็นคืออะไร วิธีของเราบางครั้งก็จะบอกว่า คำแถลงศิลปินก่อนนะคะ และส่วนที่บอกว่าปัญหาคือความเป็นคนไทยที่พี่เคยโดนแรงปะทะ การแก้ของเราคือทำงานให้หนักขึ้น”
“พอจะพูดได้ไหมว่าการตั้งคำถามของพี่ รวมถึงความตั้งใจลดทอนองค์ประกอบศิลป์ออกไป แง่หนึ่งมันคือการมองหาความหมายใหม่ๆ ทั้งยังท้าทายกรอบความคิดความเชื่อของคนด้วยหรือเปล่า”
“ใช่ นั่นคือสิ่งที่ทำมาตลอด”
ผู้สื่อสาร
การได้พบศิลปินแบบพี่แมท ได้นั่งพูดคุยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเปลวไฟแห่งการสร้างสรรค์นั้นส่งมาถึงคู่สนทนาอย่างผมด้วย นาทีต่อนาทีราวกับเวลาหยุดนิ่ง พี่แมทเล่าเรื่องวิธีการทำงานไว้อย่างน่าสนใจ และราวกับว่าเรื่องที่อยากพูดคุยกันจะไม่มีทางหมดลงโดยง่าย เธอเล่าต่อว่าเวลาทำโปรเจกต์บางอย่าง สิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่ตอบโจทย์เฉพาะเรา คนอื่นอาจจะจบที่การทำ แต่สำหรับเธอจะจบที่การแสดงผลงานและผลตอบรับจากสิ่งที่ทำ
“พี่ถือว่าตัวเองเป็นสื่อที่ไม่ใช่นักข่าว แต่เป็นคนถ่ายนู้ดเพื่อเล่าเรื่องราวบางอย่าง รวมถึงสะท้อนเสียงสู่สังคม นี่คือเป้าหมายสำคัญในการทำงาน”
“ทุกงานที่พี่คิด ที่พี่ทำ มันช่วยให้พี่เข้าใจเรื่องต่างๆ มากขึ้น จนอยากถ่ายทอดออกไปให้ผู้ชมเข้าใจ อย่างตอนทำที่เชียงใหม่ งานเราพูดมายาคติเรื่อง Body Shaming พอมาอีสาน ถ้าเราพูดเรื่อง Body Shaming หรือ Social Bullying คนอีสานเขาไม่อิน เราก็ต้องมาดูแล้วว่า เฮ้ย เขาอินอะไร
“ก่อนพบว่าเขาอินความเป็นเขา ภูมิใจในความเป็นอีสาน วัฒนธรรมบ้านเกิด จากทีแรกก่อนมาโปรเจกต์นี้ชื่อว่า ‘My Life, My Rights’ ที่แปลว่าสิทธิของฉัน แต่พอมาอยู่มันกลายเป็นว่าผู้คนที่นี่มีเรื่องเล่าในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหมอลำ ศิลปิน นักท่องเที่ยว ก็เลยรู้สึกว่ามันพูดถึงชีวิตของเขาโดยผ่านร่างกายของเขา จึงกลายเป็น Live Life in Your Own Skin”
ขอนแก่น ดำรงอยู่
เมื่อถูกผมถามว่าทำไมนิทรรศการ Live Life in Your Own Skin ถึงเลือกจัดที่อีสาน พี่แมทเอ่ยทวนคำถามก่อนเล่าว่าตอนแรกคิดอยู่หลายจังหวัด เธอไปดูที่ทางทั้งอุบลราชธานี นครราชสีมา รวมถึงขอนแก่น ซึ่งที่ขอนแก่นเท่าที่ดูคือเดินทางสะดวกแล้วหนึ่ง สองที่นี้มีงานศิลปะ และสามคือวัฒนธรรม พี่แมทบอกว่าเธอรู้สึกว่าขอนแก่นมีข้อมูลดีๆ ที่ทำงานได้
ภาพส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “Live Life in Your Own Skin”
“ประโยคที่ว่า ‘เพราะเปลี่ยนแปลง จึงคงดำรงอยู่’ มีที่มายังไง”
“มาจากการที่พี่ได้พูดคุยและทำงานกับผู้คนช่วงตลอดหนึ่งเดือน มันมีประโยคและคำพูดหลายๆ อย่างที่พี่ได้ยินบ่อยที่สุดเลย นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เป็นเขา”
“เปลี่ยนแปลงในด้านไหนบ้าง”
“มีตั้งแต่เรื่องของโครงสร้าง ความคิด การผสมผสานทางวัฒนธรรม ถ้าพูดถึงวัฒนธรรมด้วยทัศนคติโบราณก็จะมองคนอีสานในทางลบ แต่อีสานที่เรามาเจอเขาเป็นอีกแบบหนึ่งเลย ตอนออกไปสัมภาษณ์ มีคนหนึ่งตอบพี่ว่า คนอีสานอยู่ด้วยการเปลี่ยนแปลงมาตลอด เราเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ตั้งแต่ยุคที่โดนกดขี่ แต่เราก็ต้องต่อสู้ ไม่ว่าด้านใด พอถึงคนรุ่นปัจจุบันก็ยังมีสิ่งที่เขาต้องต่อสู้อีก สิ่งนี้ทำให้พี่เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลง มีการต่อสู้ มีเรื่องอะไรต่างๆ แต่เขาก็ยังอยู่ตรงนี้ เหมือนกับว่าถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงเลย นั่นคือการสูญพันธุ์
“หรืออย่างศิลปินเจ้าของนิทรรศการเกี่ยวกับบั้งไฟ ที่ ม.ขอนแก่น ซึ่งพี่ได้คุยกับเขามา เขาก็เล่าว่าเมื่อก่อนบั้งไฟฮิตมาก แต่ว่าตอนนี้ไม่ค่อยมีแล้ว พี่เลยถามว่าทำไม เขาตอบว่า อ๋อ-รัฐบาลสั่งไม่ให้ทำ ปีหนึ่งได้แค่ครั้งหรือสองครั้ง ซึ่งพี่ก็อ้าว แต่สิ่งที่เรารับรู้มาคือคนอีสานไปทำงานต่างจังหวัดถูกไหม เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเอง หาเงินส่งกลับบ้าน ทั้งที่จริงๆ เขาอาจมีอาชีพมีกินมีใช้ไม่ต้องไปต่างถิ่น แต่เพราะบ้านเขาทำบั้งไฟต่อไม่ได้อีกแล้ว
“อีกสิ่งที่พวกเราเข้าใจว่าวัฒนธรรมอีสานหายไป เพราะเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจ ไม่ต้องการสืบสาน แต่เท่าที่พี่มาเจอ คนอีสานค่อนข้างรักวัฒนธรรมมาก เขาภูมิใจในเรื่องของหมอลำ หมอแคน หรืออะไรต่างๆ แต่ทำไมถึงมีคนเข้าใจว่าวัฒนธรรมอีสานหายไป นั่นเพราะเราไม่เคยรู้เลยว่ามันมีเรื่องของโครงสร้าง อย่างบั้งไฟคุณห้ามจัดนะ คุณห้ามทำอย่างนั้น ห้ามทำอย่างนี้”
สดุดีอีสาน
ก่อนเดินทางมาขอนแก่น ผมสนใจคำว่า “สดุดีอีสาน” ที่ปรากฏอยู่บนโปสเตอร์นิทรรศการค่อนข้างมาก และเมื่อปล่อยตัวเองเดินทอดน่องไปตามถนนหนทาง ผ่านตึกรามบ้านช่อง ผ่านการมองผู้คนที่ประสานสบตาและการลอบมองความเป็นไป ผมนึกสงสัยอะไรคืออัตลักษณ์ที่ศิลปินสนใจ สถานที่ ผู้คน ที่แท้แล้วอะไรคือขอนแก่น อะไรคือสดุดีอีสาน ผมเก็บคำถามเหล่านั้นไว้ในใจ และไม่ลืมที่จะถามหญิงสาวดวงตายิ้มพรายที่นั่งอยู่กับผมในเย็นย่ำวันเสาร์
“พี่มองขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของการพูดถึงอีสาน พอมาทำงานที่นี่ก็ได้พบเห็นผู้คนที่น่ารัก จริงใจ ถ้าไม่ได้มาอยู่จะไม่รู้เลยว่า ที่หลายคนคิดว่าคนอีสานแข็งกร้าวนั้นไม่จริงเลย แต่เพราะความจริงใจเกินไปจึงโดนเอาเปรียบ เขาโดนว่า-ลาว! เขาโดนกดทับ เป็นแบบนี้มานานแล้ว คือในความเป็นคนอีสาน คนในเมืองจะนึกถึงกรรมกร นี่คือสิ่งที่เขาโดนกดทับ พอเรามาทำงาน การที่จะเข้าถึงเขาก็ไม่ได้ง่ายนะ เพราะเหมือนคนที่ถูกทำร้ายมาเยอะ”
“เขาจะมีกำแพง”
“ใช่ จริงใจแต่มีกำแพง”
“เพราะสิ่งที่เขาเคยได้รับ การกดทับที่เขาได้เจอ”
“ใช่ ต้องบอกเลยว่าการถ่ายนู้ด อย่างที่เชียงใหม่ พี่ไปงานหนึ่ง พี่ได้นางแบบแล้วสี่ห้าคน ที่นั่นคนจะแบบถ่ายฉันใช่ไหม ฉันก็จะมางาน นี่รูปฉัน แต่คนอีสานด้วยความที่เขาถูกมองในแง่ลบมาประมาณหนึ่ง เขาจะมีความรู้สึกว่าถ้าฉันให้เธอถ่ายนู้ด แล้วเธอแสดงงานที่นี่ ผู้คนก็จะเห็นนู้ดเขา คือเขายังมีความรู้สึกว่าถ้าทำอะไรที่เขาจะโดนดูถูก เขาไม่อยากทำ พี่เลยบอกกับเขาว่าสิ่งที่พี่ทำคือการนำเรื่องของเขามาพูดผ่านตัวเขา โดยที่เขาสามารถเป็นตัวเองได้เลย ให้คนมองเขาโดยไม่จำเป็นว่าฉันใส่ทองหรืออะไร นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพี่อยากสดุดีอีสาน”
เสียงจากเนื้อหนัง
สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างซึ่งได้จากการคุยกับพี่แมท คือคำตอบเมื่อผมถามเธอว่า นู้ดนั้นขัดแย้งกับวัฒนธรรมอีสานไหม เธอบอกว่าไม่ใช่เฉพาะอีสาน ที่จริงร่างกายมนุษย์เพิ่งถูกทำให้รู้สึกแย่เมื่อประมาณ 150 กว่าปีก่อน ตอนที่เรามีกฎหมายให้ต้องปกปิดร่างกายมิดชิด มันไม่ใช่เฉพาะเรื่องคนอีสาน เธอจึงมองว่า ถ้ารักตัวเองมากพอ แม้ไม่ใส่เสื้อผ้าก็จะภูมิใจในตัวเอง ไม่ต้องหาอะไรมาเสริมก็มีความสุขกับรูปร่างที่เป็นตัวเราได้ แล้วให้ร่างกายเปล่งเสียงที่เราอยากสะท้อน
ภาพส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “Live Life in Your Own Skin”
“อย่างนั้นร่างกายพูดอะไรได้บ้าง”
“มันขึ้นอยู่กับว่าคุณสังเกตอะไร อย่างพี่รู้สึกว่าร่างกายจะบอกได้เลย ถ้าเราสนใจมันมากพอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขภาพ การทำงาน การเคลื่อนไหว ผิวพรรณ สายตา ทุกอย่าง”
“มันบอกในเรื่องเชิงนามธรรมได้ด้วยไหม พวกความรู้สึกด้านใน”
“ส่วนใหญ่ถ้าพูดถึงได้ขนาดนั้นต้องมองด้วยสายตา ซึ่งพี่ชอบถ่ายในที่ของคนที่เป็นแบบให้ อย่างภาพนี้ (พี่แมทชี้ให้ดูภาพผู้ชายนอนเปลือยอยู่บนพื้นดิน) พี่ถ่ายหมอลำ แล้วที่เขานอนอยู่คือดินแดง ซึ่งมีเฉพาะคนอีสานเท่านั้นจะรู้ว่าดินแดงคือขอนแก่น”
อย่างที่พี่แมทบอก ถ้าไม่ได้มาขอนแก่น ไม่ได้มานิทรรศการ ผมคงไม่มีทางรู้เลยว่าดินแดงคือดินที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ตรงกันข้ามกับความเชื่อที่ฝังมาตลอดว่าอีสานมีแต่ดินแดงแห้งแล้งแตกระแหง สิ่งนี้เชื่อมโยงเข้ากับหลายเรื่องที่ผมได้คุยกับพี่แมท
เช่นช่วงหนึ่งเราคุยกันเรื่องการที่สังคมไม่ค่อยแยกคนทำงานออกจากตัวผลงาน เรามักมีแนวโน้มวิพากษ์ตัวผลงานแล้วลามไปตัดสินคนทำงาน สำหรับผมเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกับเรื่องดินแดง เรื่องธรรมชาติของคนอีสาน เรื่องขนบธรรมเนียมกับวัฒนธรรมร่วมสมัย เรื่องวิถีของผู้คน และอีกหลายเรื่อง เราไม่มีทางคาดเดาได้ถูกต้อง ไม่มีความชอบธรรมที่จะตัดสิน หากยังไม่เคยมาสัมผัส พูดคุย เรียนรู้ กระทั่งร่วมอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ซึ่งถ้าพูดให้ถึงที่สุด แม้ว่าเราจะคิดว่ารู้จักมักคุ้นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งดีแล้ว ทว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมีอยู่จริง มันคือความเลื่อนไหลเพื่อให้เรายังคงดำรงอยู่ ไม่นิ่งหายสลายไป
เวลา จังหวะ ตัวตน
ระหว่างนั่งคุยกับพี่แมท บางห้วงผมปรายตาออกไปด้านนอก เห็นทีมงานกำลังจัดพื้นที่เตรียมเปิดงาน และผู้คนเริ่มทยอยกันมารอชมภาพถ่าย ท่ามกลางอุณหภูมิที่ลดลงทีละน้อย ในฐานะที่ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ทำงานในลักษณะคล้ายคนเดินทางไกล จึงไม่ต้องถามก็รู้ว่าสิ่งเหล่านี้ชุบชูใจศิลปินมากมายแค่ไหน ขนาดผมที่เป็นคนมาขอสัมภาษณ์และรอร่วมการเปิดนิทรรศการยังอดไม่ได้ที่จะตื่นเต้นไปด้วย ผมลงความเห็นกับตัวเองว่านี่คือวันเสาร์ที่ดีเสาร์หนึ่ง
เมื่อผมถามว่าสำหรับพี่แมทการทำงานศิลปะถือเป็นการทดลองอย่างหนึ่งหรือเปล่า เธอตอบแทบจะทันทีว่าใช่ เพราะรู้สึกสนุกกับการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ
“พอมาทำงานศิลปะหรือถ่ายภาพมันจะมีคำว่าตัวตน แต่พี่ไม่ได้แคร์ว่าตัวตนของฉันคืออะไร จะต้องถ่ายฟิล์มอย่างเดียว ต้องเป็นแสงธรรมชาติเท่านั้น ของพี่ตัวตนคือสิ่งที่พี่สนใจและทำเป็นงาน”
“ซึ่งมันเลื่อนไหลได้ไหม”
“ได้ดิ ตอนนี้กำลังสนุกเลย เราพยายามทำตัวว่างเปล่าตลอดเวลาเพื่อที่จะได้อะไรใหม่ๆ อย่างมาอีสานเรารู้เรื่องนี้เพิ่ม เราลองเอามาเล่นกับงานตัวเองได้ไหม หรือว่าได้ข้อมูลอันนี้มาเราจะมาเล่นกับงานตัวเองยังไง ยังสนุกกับสิ่งนี้ เพราะพี่รู้สึกว่างานของพี่มันเหมือน Soft Power และพี่ค่อนข้างใช้เวลากับมัน อย่างที่เห็นคือเริ่มแสดงงานตั้งแต่ปี 2013 พี่ถ่ายงานเก็บมาเรื่อยๆ เลย ถ่ายที่อยากถ่าย”
ช่วงท้ายของการพูดคุย ผมพอจะพูดได้ว่าในโลกของภาพนู้ด ร่างกายนั้นมีเสียงของมันเอง ร่างกายบอกได้ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าเราจะได้ยินเรื่องอะไร ศิลปินจะถ่ายทอดออกมาในแง่มุมใด ทั้งที่อยู่ ที่กำเนิด ที่จากมา ที่กำลังจะไป สิ่งที่กระทำต่อเขา สิ่งที่เป็นแรงขับของเขา
“สำหรับพี่ เสน่ห์ของการเรียนรู้ก็คือการหาคำตอบด้วยตัวเอง เพราะคำตอบของวันนี้มันอาจจะถูกแค่วันนี้ แต่ถ้าเป็นวันอื่น คนที่มารับสารอย่างสองปีต่อไปเขาอาจจะมีข้อมูลเพิ่ม มันเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลง พี่แฮปปี้ที่คนดูแล้วตั้งคำถาม ไปหาข้อมูลต่อ หรือจะสนุกมากถ้าเรามาแลกเปลี่ยนกัน พี่ชอบแบบนั้น”
“แล้วพี่เชื่อในการเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน”
“พี่เชื่อว่าคนเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมได้ ถ้าผู้คนเปลี่ยน นี่คือสิ่งที่กำลังทำอยู่ วันนี้เราอยากจะพูดว่านู้ดมันสามารถพูดในบริบทอื่นๆ ได้ นั่นคือสิ่งที่พี่เชื่อ และทำมาโดยตลอด”
“Live Life in Your Own Skin”
นิทรรศการเดี่ยวโดย โศภิรัตน์ ม่วงคำ
เปิดเข้าชมตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2564
ที่ THE WALL GALLERY จังหวัดขอนแก่น .
Writer : จรณ์ ยวนเจริญ
Comments