'The Naked Truth'
เรื่อง : มายา ภาพ : ธันวา ลุจินตานนท์
29 Mar 2022
เรือนร่างเปล่าเปลือยคือของขวัญจากธรรมชาติที่สวยงาม หาใช่ความน่าอับอายต้องปกปิดดังที่เขาหลอกลวงไว้… เปิดเปลือยความคิดของแมท – โศภิรัตน์ ม่วงคำ ช่างภาพนู้ดผู้ยืนหยัดทั้งในความรักในการถ่ายภาพนู้ด ความรักในภาพนู้ด และความรักในเรือนร่างอันเปลือยเปล่าและความคิดอันเปล่าเปลือยของมนุษย์
ความสับปลับ แห่งการเรียนการสอนในประเทศไทย
“การศึกษาบ้านเรามันย้อนแย้งกับวัฒนธรรมนะ” แมท – โศภิรัตน์ ม่วงคำ ช่างภาพสายนู้ดออกความเห็นเมื่อเราถามถึง ‘ความสับปลับ’ หรือความหน้าไหว้หลังหลอกของวัฒนธรรมจอมปลอมในประเทศบ้านเกิดของเธอที่เธอสัมผัสได้ทั้งก่อนและหลังที่เธอจะยึดอาชีพช่างภาพที่เชี่ยวชาญเรื่องการถ่าย ‘ภาพโป๊’ แบบนี้ “เพราะพอเราโตเป็นสาว นมตั้งเต้า เราต้องหวงเนื้อหวงตัว ห้ามใครมาแตะมาโดน แต่ตอนเราเด็กๆ ใครจะมาจับแก้มเราก็ได้อย่างนั้นเหรอ โตมาเรารู้สึกเหมือนเราเป็นไบโพลาร์น่ะ งงไปหมด” ท้ายประโยคเจือเสียงหัวเราะเบาๆ แต่เราจับความประชดประชันในนั้นได้ลางๆ “ตอนที่เราไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนี เขาสอนให้เด็กรู้จักสิทธิในร่างกายตัวเองตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ครั้งแรกที่เราไปเห็นเด็กน้อยที่นั่น เราเข้าไปอุ้มเด็ก สภาพกลายเป็นเหมือนตลาดแตก พ่อแม่เขาโวยวาย โฮสต์ของเราก็วิ่งมาบอกเราว่า ห้ามโดนตัวเด็ก และห้ามถ่ายรูปลูกคนอื่นเด็ดขาด พอเรากลับมาประเทศไทย เราเลยติดว่าเราจะไม่กล้าไปกอด ไปหอมลูกใครเลย และเด็กที่โตมาในสภาวะแวดล้อมแบบนี้ก็จะรู้ว่าสิทธิในร่างกายของตัวเองคืออะไร การกล้าแสดงออกคืออะไรกันแน่ ไม่สับสนเหมือนเด็กในประเทศเรา” นอกจากนั้น แมทยังตั้งข้อสังเกตว่า เด็กๆ ที่หน้าตาน่ารักนั้นดูเหมือนจะตกเป็นเป้าในการคุกคามแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้โตกว่าตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งก็น่าตกใจไม่น้อยที่ประเด็นนี้ ไม่ว่าใครจะเปิดก็ตาม จะมีคนที่เคยประสบชะตากรรมเดียวกัน และสามารถ ‘รู้สึกร่วม’ ไปกับผู้เปิดประเด็นในวงเสมอ ไม่มากก็น้อย “มีอยู่ช่วงหนึ่งเราแพ้กลิ่นเหงื่อผู้ชายใส่ชุดรด. คือเห็นปุ๊บแล้วผื่นขึ้นทันทีเลยนะ” แมทเล่าต่อ “เราเลยหันมาสนใจเรื่องการทำงานของสมอง เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่งเราคิดว่าเราอาจจะเป็นบ้า เพราะเราเห็นกลุ่มคนเหล่านี้แล้วเราผื่นขึ้นทันที เคยดูหนังที่เขาบอกว่าทันทีที่คิดถึงพ่อแล้วเนื้อตัวจะมีรอยถูกตีเกิดขึ้นบ้างไหม” เราส่ายหน้า แต่ประสบการณ์อื่นที่เราประสบมาก็ไม่ต่างจากสิ่งที่แมทเล่า หรือยกตัวอย่างมากนักหรอก เราคิดขื่นๆ “เรื่องของเราคือ ช่วงเรียนมัธยม เราขอพ่อแม่เรานั่งรถเมล์กลับบ้านเองหลังเลิกเรียน เวลามีเด็กเรียนรด. เดินขึ้นมาบนรถเมล์เป็นกลุ่มๆ เรามักจะโดนดันไปข้างหลัง และโดนรุมจับผม จับแก้ม อะไรประมาณนั้น เป็นประสบการณ์ฝังใจจนเราต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะกลับมาโดนตัวคนอื่น หรือเห็นผู้ชายในชุดรด. แล้วจะไม่ผื่นขึ้นเลยนะ” นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แมทหันมาสนใจเรื่องการทำงานของสมอง เพื่อที่จะเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น และผลพลอยได้ก็คือ… เธอได้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
“การแตะเนื้อต้องตัวแบบในวงการใต้ดิน ช่างภาพ [ส่วนใหญ่] คิดว่าทำได้ และแบบ [ส่วนใหญ่] เองก็ไม่รู้ว่าช่างภาพไม่ควรทำ” นี่คือคำตอบของเธอเมื่อเราถามถึงสิทธิในร่างกายของตัวเองในวงการภาพนู้ดในประเทศไทยที่เธอรับรู้มา “ถึงจะมีการยกประเด็นนี้ขึ้นมาพูดบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร และมักจะเงียบหายไป เพราะคนที่ทำไม่ถูกมันเยอะกว่าคนที่ทำถูก… แถมคนที่ทำ [หลายคน] ยังมีเครดิตที่ดูเหมือนเป็น ‘คนดี’ ด้วยน่ะ” แมทเสริม เราถึงกับถอนหายใจกับคำว่า ‘คนดี’ ในนิยามของประเทศนี้ เพราะดูเหมือนว่าคำนี้จะเป็นตัวเบิกทางให้คุณทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับใครก็ได้ในทุกวงการแบบไม่น่าเชื่อ “สมมติว่าถ้าคุณเป็นช่างภาพที่รู้จักคนเยอะ มีชื่อเสียงติดตัวมา แบบก็จะรู้สึกว่า ‘พี่เขาคงไม่ได้ตั้งใจทำอะไรเราหรอกมั้ง’ หรืออะไรแบบนี้ บางครั้งการละเมิดสิทธิก็จะอยู่ในสถานการณ์แบบที่มีช่างภาพหลายคนต่อแบบคนเดียว และส่วนใหญ่สถานการณ์แบบนี้ก็จะเกิดกับนางแบบใหม่ๆ ที่ไม่เคยถ่ายนู้ดมาก่อน พวกนางแบบมืออาชีพจะไม่ค่อยเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นนะ
“จะให้เรายกเรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่แบบรณรงค์จริงจังนี่ยากมากเลย ด้วยเหตุผลง่ายๆ ก็คือ กฎหมายยังไม่รองรับถ้าคุณเป็นนางแบบนู้ด” คำตอบของแมททำให้เรานึกถึงช่วงที่มีคนพยายามยกประเด็นเรื่องสิทธิของ sex worker ในประเทศไทยไม่ได้ ช่วงนั้นทำให้เรารู้สึกถึงความน่ารังเกียจของทัศนคติ victims blaming ที่ฝังราก (โคตร) ลึกในสังคมสับปลับที่เราอยู่จนเราแทบอ้วกทุกวัน “ในตอนนี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ของเราต้องพูด ต้องส่งเสียง ต้องให้ความรู้กับแบบเรื่องสิทธิในร่างกายตัวเอง ว่ามันมีข้อจำกัดอยู่ตรงไหน ต่อให้เขาจ่ายเงินคุณมา เขาก็ไม่มีสิทธิที่จะละเมิดเนื้อตัวของคุณ นั่นคือการให้ความรู้ในฝั่งแบบนะ เพราะเราเองก็รู้จักแบบเยอะ ในส่วนของการให้ความรู้กับช่างภาพ เราก็ใช้วิธีจัดเวิร์คช็อป และแทรกเรื่องพวกนี้เข้าไป จริงๆ เราเป็นคนไม่ทำเวิร์คช็อปเลยนะ เพราะเราเหนื่อย แต่เราต้องมาปรับทัศนคติของตัวเองใหม่ว่า ถ้าเราไม่สอน ไม่เผยแพร่ ไม่แชร์ความรู้ประสบการณ์ของเราในวงการนี้ เราก็จะรู้เรื่องพวกนี้อยู่คนเดียว แต่ถ้าเราแชร์ออกไปสิบคน และสิบคนนั้นไปบอกคนอื่นต่ออีกคนละสิบคน เรื่องแบบนี้ก็จะกระจายไปในวงกว้าง เราเลยโอเคกับการทำเวิร์คช็อปเพื่อให้ช่างภาพเข้าใจหลักสำคัญเลยว่า การที่คุณจ่ายเงินจ้างแบบมาเป็นนางแบบนู้ด คือคุณซื้อเวลางานของเขา ไม่ได้ซื้อเกียรติยศของเขาค่ะ”
นิทรรศการ may we shine ของแมทที่จัดขึ้นที่ลาลูน่าแกลเลอรี จังหวัดเชียงใหม่เนื่องในวันสตรีสากลโลกก็จะพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมกันเป็นหลัก “เพราะเรารู้สึกว่าในวงการศิลปะ ไม่ใช่เฉพาะในวงการภาพถ่ายนะ ใช้แบบนู้ดเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง เพศชาย หรือ LGBTQ+ แต่ไม่เห็นค่อยมีคนพูดถึงสิทธิ หรือศักดิ์ศรีความเป็นแบบนู้ดเลย เราเลยเลือกเอาเรื่องนี้มาพูดให้คนฟังในนิทรรศการของเราค่ะ”
ความเปลี่ยนแปลงในวงการภาพถ่ายนู้ดในประเทศไทยที่สัมผัสได้
แมทอธิบายว่า ภาพจำ (perception) ของเราที่มีต่อเธอในฐานะ ‘ช่างภาพนู้ดยุคบุกเบิกของประเทศไทย’ นั้นเป็นจริงแค่เสี้ยวเดียวเท่านั้น “ถ้าเป็นคนที่ถ่ายภาพในวงการ จะรู้กันนะคะว่าใครถ่ายภาพนู้ดมานานกว่าเรา เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้ออกสื่อ แต่เราออกสื่อ และมุ่งมาในทิศทางนี้เลย ทุกคนก็เลยจะเห็นว่าเราเป็นช่างภาพนู้ดยุคแรกๆ ของประเทศไทย… ซึ่งก็จริงอยู่นะ” เธอหัวเราะ “ช่างภาพนู้ดคนอื่นๆ ในวงการส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นศิลปินหรอก จะเป็นทำนองว่าเป็นตากล้องที่ชอบถ่ายภาพนู้ด และมีงานประจำอย่างอื่นทำไปด้วย เพราะการเป็นช่างภาพนู้ดในประเทศไทยมันไม่ใช่เรื่องแค่ ‘เธอถ่ายภาพสวย’ แต่เป็นเรื่องที่ว่า ‘เธอเป็นใคร’ เธอกร้านโลกมาจากไหนมากกว่า อธิบายง่ายๆ ก็คือ นอกจากเทคนิคต้องแม่น ถ่ายรูปสวยแล้ว จิตใจต้องมั่นคงเข้มแข็งในระดับหนึ่งเลยนะ ถ้าคุณคิดจะออกสื่อ” ซึ่งออร่าอันมั่นคงเข้มแข็งของแมทนั้นก็สื่อมาถึงเราได้ตั้งแต่เราสบตาเธอเมื่อเริ่มต้นการสัมภาษณ์แล้วแหละ เราไม่แปลกใจเลย
เมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงในวงการที่เธอคร่ำหวอดมานาน คำตอบก็ทำให้เราใจชื้นขึ้นนิดนึง “เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีนะคะ” เธอตอบทันที “เป็นความรู้สึกส่วนตัว ถ้าเทียบกับเมื่อประมาณแปดเก้าปีที่แล้วที่เรากลับมาจากเยอรมนีแรกๆ ที่เราเจอคำถามแบบว่า ‘ทำไมเป็นผู้หญิงถึงมาถ่ายรูปนู้ด กร้านโลกมาจากไหน ทำไมไม่ไปถ่ายดอกไม้ล่ะ’ ซึ่งด้วยบริบทสังคมในตอนนั้น ความ mainstream ในทัศนคติของคนทั่วไปมันยังเยอะมากอยู่ แต่ในตอนนี้ เรารู้สึกว่าคนรุ่นใหม่จะมีความ niche มากขึ้น กล้าแสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ มากขึ้น คนที่ชอบถ่ายภาพนู้ด หรือคนที่ชอบดูภาพนู้ดก็จะมีที่ทางในสังคมมากขึ้น
“เราว่านะ ความเปล่าเปลือยมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว” น้ำเสียงเธอสบายๆ “แต่เสื้อผ้ากลายเป็นทัศนคติแบบ mainstream ตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ทำให้บริบทในตอนนั้นมันเป็นไปในทิศทางนั้น แต่ในตอนนี้ ด้วยการสื่อสาร การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ และการเปิดกว้างทางการศึกษาทำให้คนเห็นโลกกว้างมากขึ้น เปิดใจรับอะไรต่างๆ มากขึ้น บวกกับเราที่ทำงานด้านภาพนู้ดมาอย่างต่อเนื่องจริงๆ ช่างภาพที่อยากจะทำงานอย่างเรา และติดตามเรามานานคงจะรู้สึกบ้างล่ะว่า ขนาดคนนี้เขายังอยู่ได้ด้วยอาชีพนี้ มันก็ไม่น่าจะมีอะไรเสียหายหรอกมั้ง… อะไรประมาณนั้นค่ะ”
ธงในใจในฐานะช่างภาพนู้ดที่ [เกือบจะ] จัดนิทรรศการบ่อยที่สุดในประเทศไทย
แมทหัวเราะเสียงใสเมื่อเราตั้งข้อสังเกตว่าเธอเป็นช่างภาพ/ศิลปิน ที่มีงานนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่มบ่อยที่สุดในประเทศไทยแล้วมั้ง “เรามีธงนะคะ” เธอยังคงหัวเราะ “ถ้าพูดถึงเรื่องในวงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นวงการช่างภาพหรือวงการศิลปะ เรารู้สึกว่าต้นทุนเราเป็นศูนย์เลย เพราะเราไม่ได้จบทั้งศิลปะ และการถ่ายภาพ (เธอศึกษาด้าน Informatics ที่ประเทศเยอรมนี) แต่มันมีทัศนคติอะไรหลายๆ อย่างที่เรารู้สึกว่าเราต้องตีให้แตกให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรม ‘ภาพถ่ายไม่ใช่งานศิลปะ’ และภาพถ่ายของเรายังเป็นภาพนู้ดอีกนะ หรือวาทกรรม ‘ศิลปินไม่ใช่อาชีพ’ อีก เพราะในประเทศไทยมันมี myth แบบนี้อยู่เยอะมาก แต่ด้วยความที่เราเป็นนักวิเคราะห์ระบบไง เราก็เลยประมวลข้อมูลทุกอย่างรอบตัวมาตั้งคำถาม หาข้อมูล และวางแผนต่างๆ อย่างรัดกุม พอวางแผนแล้ว เราก็รู้สึกว่า มันเป็นไปได้นี่ ทำไมถึงจะเป็นไปไม่ได้ล่ะ”
และในทุกครั้งที่แมทลงมือทำอะไรก็ตาม เธอจะมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนตามประสานักวิเคราะห์ระบบเสมอ “อย่างงานนิทรรศการแรกที่เราจัดเมื่อปี 2013 ก็เกิดขึ้นเพราะสองจุดประสงค์ จุดประสงค์แรกคือ พอเรากลับมาจากประเทศเยอรมนี เราเห็นทัศนคติของคนในวงการนู้ดใต้ดินที่เดินไปดึงหัวนมแบบระหว่างถ่ายอยู่ และเราพยายามบอกว่าทำไม่ได้นะ เขาก็จะสวนเราว่าเรื่องเยอะอะไรนักหนาแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่า ในประเทศไทย ถ้าเราอยากให้คนอื่นฟังเรา เราต้อง 1) รวย หรือ 2) มีชื่อเสียง ซึ่งเราน่าจะมีชื่อเสียงได้ง่ายกว่ารวย และจุดประสงค์ที่สองก็คือ เราอยากจะเรียนต่อด้าน Fine Arts Photography ที่ประเทศอังกฤษ เราจึงต้องสร้าง portfolio ขึ้นมาโดยการจัดนิทรรศการแรกในชีวิตนี่ล่ะค่ะ”
หลังจากนิทรรศการแรกสำเร็จลุล่วงลง จุดประสงค์ต่อไปของเธอก็คือการสร้างโอกาสเพื่อให้ตัวเองกลายเป็นศิลปินเต็มตัว ซึ่งในตอนแรกเธอก็ตั้งใจจะสร้าง portfolio เพื่อไปเรียนต่อ แต่เมื่อเธอได้มีโอกาสเข้าไปเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัยศิลปากร เป้าหมายเธอก็เปลี่ยนไปเป็นการหา artist residency ในประเทศต่างๆ “ในตอนนั้น เราพยายามที่จะไม่เอางานของเราไปจัดแสดงที่ ‘นิทรรศการภาพถ่าย’ เลยนะ แต่เราพยายามจะไปงาน ‘นิทรรศการศิลปะ’ ต่างๆ เพื่อให้คนเข้าใจว่างานภาพถ่ายก็คือศิลปะแขนงหนึ่ง เป้าหมายหลักของเราคือการได้จัดแสดงที่ bacc (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร) เพราะเรารู้สึกว่า ถ้างานของเราได้แสดงที่นี่ ก็เท่ากับได้รับการยอมรับไปว่างานของเราเป็นงานศิลปะ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่เรื่องการต่อสู้เรื่องภาพนู้ดเท่านั้น มันคือการต่อสู้ตั้งแต่การทำให้งานภาพถ่ายเป็นงานศิลปะเลยทีเดียว”
แมทแวะเวียนออกสื่อต่างประเทศมาได้ถึงห้าปีก่อนที่สื่อไทยผู้ต้วมเตี้ยมถึงจะให้แสงกับเธอ “มาถึงตอนนี้ งานภาพถ่ายได้รับการยอมรับว่าเป็นงานศิลปะไปแล้วเนอะ” น้ำเสียงเธอดูดีใจ “แต่เราทำมาตั้งแต่ต้นแล้วไง เรามีการวิเคราะห์ข้อมูลบางอย่างมาตั้งแต่แรกๆ บวกกับการที่เรารู้ว่าเราไม่มีต้นทุนใดๆ เหมือนคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคอนเนคชั่น ความรู้เฉพาะทาง เทคนิค หรืออะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องพยายามมากกว่าคนอื่น ดังนั้น เราก็จะมี year plan ของเรา ซึ่งตอนนี้เราแพลนไปถึงปีหน้าแล้ว ซึ่งแพลนของเราก็จะเป็นว่าต้องมีงานแสดงนิทรรศการ ต้องออก photo book ต้องออกสื่อเท่าไหร่ ไป artist residency ที่ประเทศไหน เป็นเวลานานเท่าไหร่ อะไรแบบนี้ค่ะ”
เล่าเรื่องผ่านเรือนร่างคนอื่น
แมทอธิบายคร่าวๆ ว่างานของเธอแบ่งเป็นสองแบบ คือ 1) เอาเรื่องของตัวเธอใส่เข้าไปในแบบ และ 2) เอาความเป็นตัวแบบออกมา “อธิบายอย่างแรกก่อนนะคะ” เธอเริ่มต้น “เราชอบเล่านิทานให้คนเข้าใจเนื้อเรื่องไปในทิศทางเดียวกัน ยกตัวอย่างภาพเซ็ต Only humans know why ที่เราถ่ายช่วงที่พะยูนน้อยที่ชื่อมาเรียมตายเพราะขยะพลาสติก ตอนนั้นเราอินมาก เลยอยากจะถ่ายทอดว่าขนาดมาเรียมที่ได้รับความรักขนาดนั้น ยังหนีความตายจากถุงพลาสติกไม่พ้น แล้วสัตว์ตัวอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นจุดสนใจล่ะ เราเลยเลือกแบบที่อินเรื่องสัตว์เหมือนกับเรามา เล่าเรื่องความอินของเราที่มีต่อมาเรียมให้เขาฟัง และบอกเขาว่าอยากทำภาพเซ็ตที่รณรงค์เกี่ยวกับการทิ้งขยะพลาสติก ในวันถ่าย แมทก็จะยื่นถุงพลาสติกให้เขาครอบหัว สมมติว่าเธอไม่มีแขน และเธอก็ยังไม่รู้ว่านี่คือถุงพลาสติก เธอก็จะอยู่ไปเรื่อยๆ จนเธอเริ่มหายใจไม่ออก มูฟเมนต์เธอจะเป็นอย่างไร เราจะไม่มีเรฟใดๆ ให้แบบดูเลยนะในกรณีนี้ เพราะเราไม่อยากให้เขาทำตามอะไรทั้งสิ้น แต่เราอยากได้ความเป็นธรรมชาติบางอย่างจากตัวเขา นี่คือการเล่านิทานของเรา ทำอย่างไรก็ได้ให้แบบรู้สึกอินกับตัวเรา ณ ช่วงหนึ่ง และก็เก็บโมเมนต์ช่วงนั้นมา
“ส่วนการทำงานแบบที่สองคือการดึงตัวแบบออกมานั้น” แมทเล่าต่อ “เราจะนั่งคุยกับแบบไปเรื่อยๆ และเลือกว่าส่วนไหนของตัวเขาที่น่าสนใจ เวลาเราคุยกับคน เราจะเปรียบเขาเป็นเหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่ไม่ได้มีแค่บทเดียว คนคนหนึ่งไม่ได้พูดเรื่องการเมือง หรือเรื่องเฟมินิสต์อย่างเดียวหรอก คุณไม่ได้ชอบอะไรอย่างเดียวหรอก เราอยากจะดึงอะไรบางอย่างในบทชีวิตของเขาที่เราสนใจออกมา เราจะใช้วิธีถามเขาตรงๆ เลยว่า เรารู้สึกว่าเขาเป็นคนแบบนี้ เราคิดถูกไหม บางคนที่เราเห็นว่ารูปในอินสตาแกรมยิ้มแย้มแจ่มใสมาก แต่เราเห็นอะไรบางอย่างในตัวเขา ก็ถามโพล่งไปว่า เราว่าเธอพยายามมีความสุขมากเกินไปใช่ไหม บางคนพอเราทักปุ๊บก็ร้องไห้โฮเลย เราก็ถามต่อไปว่าถ้าเราอยากจะดึงมุมนี้ของเขาออกมา เขาจะโอเคไหม ถ้าไม่โอเคก็คุยต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะลงตัวกันทั้งเราและแบบค่ะ”
กระบวนการทำความเข้าใจคนอื่นของแมทนั้นเรียบง่าย ไม่ใช่เทคนิคอะไรซับซ้อนเลย “เราเป็นคนสนใจเรื่องมนุษย์ และทำงานกับคนเยอะมาก สมัยทำงานออฟฟิศก็อยู่ฝ่ายขายและการตลาด เราสนใจเรื่องของจิตวิทยา กิริยา ภาษาต่างๆ รวมถึงภาษากาย วัฒนธรรม และอะไรต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้น สำหรับเรา แต่ละคนก็จะไม่เหมือนกันเลย” เธออธิบาย “ความพลาดของการทำงานในฐานะช่างภาพนู้ดคนอื่นๆ คือเขาใช้ทริกเดิมๆ กับแบบทุกๆ คนที่เขาถ่าย ซึ่งจริงๆ แล้ว การเข้าใจหรือทำความรู้จักแต่ละคนนั้นจะต้องแตกต่างกันไป และเราสามารถเข้าใกล้ใครก็ได้ ถ้าเราเข้าใจเขามากพอค่ะ”
ความเชื่อใจท่ามกลางความเปลือยเปล่า
หนึ่งในจุดประสงค์ที่แมทตั้งใจเอาตัวเองออกสื่อ ทำงานหนัก และพีอาร์ตัวเองก็เพื่อให้แบบเข้าหาเธอ และเธอก็ทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ “เราทำงานหนักเพื่อให้คนเข้าหาเรา และพอเขาตัดสินใจเข้าหาเราเพื่อให้เราถ่ายภาพนู้ดของเขา เท่ากับว่าเราได้ความเชื่อใจเขามาระดับหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องของการหาคอนเซ็ปต์ที่ตรงกัน ถ้าวันที่มาถ่าย เขายอมถอดเสื้อผ้าให้เราถ่าย ก็จบแล้วค่ะ” เราก็ยังสงสัยเบาๆ อยู่ดีว่า แมทสามารถสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับแบบจนกระทั่งเขาหรือเธอยอมเปลือยกายต่อหน้ากล้องของเธอได้อย่างไร “ถ้าเป็นคนที่เข้ามาหาเรา มันไม่ยากเลยค่ะ แต่มันก็จะมีเคสแบบว่าแฟนจ่ายให้มาถ่ายนู้ดกับเรา ก็จะยากกว่าหน่อย” แมทอธิบาย “แต่ส่วนตัวเราจะเป็นตัวเอง สบายๆ เราจะไม่รีบ ไม่อะไรทั้งสิ้น ถ้าแบบไม่โอเค เราก็จะพัก ถ้าแบบไม่อยากถ่ายวันนี้ เราก็ไม่ถ่ายวันนี้ เราจะพยายามให้เขารู้สึกเหมือนเราเป็นเพื่อน ให้เขารู้สึกว่าเราจริงใจกับเขาจริงๆ เราจะยืนยันกับแบบทุกคนว่าเราชอบภาพนู้ดมาก เราถึงมาเป็นช่างภาพนู้ด เราไม่ได้อยากมาดูคนแก้ผ้าหรอก เราแค่ชอบผิวหนังมนุษย์เท่านั้นเอง”
มันก็ต้องมีบ้างแหละนะที่เห็นคนเดินอยู่ และอยากถ่ายเขาขึ้นมา ถ้าเป็นกรณีแบบนั้น คุณทำอย่างไร “เดินเข้าไปหาเลยค่ะ” แมทตอบแบบไม่ต้องคิด “แนะนำตัว เปิดเพจ เปิดเว็บไซต์ให้ดู และบอกว่าชอบเขา อยากถ่ายเขา” แล้วสำเร็จเยอะไหม “ส่วนใหญ่ก็ตอบรับนะ เพราะเรามีมารยาทกับทุกคนน่ะ เราจะคิดว่าตัวเองเป็นคนธรรมดา และแนะนำตัวเองก่อนเสมอ” และส่วนใหญ่สิ่งที่สะดุดตาในคนที่เราอยากถ่ายคืออะไร “หนึ่งคือคาแรคเตอร์ค่ะ ส่วนสองก็คือ… เราว่าทุกคนที่ไม่ใช่แบบจะมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดเรา เราว่าทุกคนมีความลับหมดนั่นแหละ ตอบยังไงดีนะ…” เธอนิ่งคิด “เอาเป็นว่า คนที่มีอะไร มันก็จะมีอะไรออกมาให้เราถ่ายเองนั่นล่ะค่ะ เราแค่จับสังเกตเฉยๆ”
ในการถ่ายภาพแต่ละครั้ง แมทใช้เวลานั่งคุยสัพเพเหระกับแบบอยู่เกินครึ่งคิว “บางทีเรานัดกันสามชั่วโมง นั่งคุยกันหมดไปแล้วสองชั่วโมง ถ่ายแค่ครึ่งชั่วโมงจบ อะไรอย่างนี้” เธอเล่า และโดยปกติแล้ว คนที่เข้ามาให้คุณถ่าย เขาต้องการอะไร เราสงสัยต่อ “ส่วนใหญ่จะบอกว่า ‘อยากเป็นส่วนหนึ่งของงานคุณแมทค่ะ’ แค่นั้นเลย เพราะจริงๆ เราก็ไม่ได้รับถ่ายทุกคนนะ เราจุกจิกประมาณหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเราถ่ายคนด้วยความรู้สึกล้วนๆ เราต้องรู้สึกดีกับเขาก่อน เราถึงจะถ่ายเขาออกมาดี ถ้าเราคุยกับลูกค้าแล้วไม่อินกับเขา เราก็อาจจะไม่รับเลยตั้งแต่แรกค่ะ” แมทยังตบท้ายว่า ไม่เคยมีแบบคนไหนถ่ายกับเธอแค่ครั้งเดียว ไม่ว่าจะจ่ายเงินให้เธอหรือไม่ก็ตาม ทุกคนล้วนแต่กลับมาเปลือยร่างให้เธอลั่นชัตเตอร์อีกครั้งเสมอ
“เรารู้สึกว่าในทุกภาพนู้ดมันมีเรื่องราวของมันนะ” เธอยิ้ม “ทุกคนจะมีจุดเปลี่ยนอะไรบางอย่างในชีวิตที่บอกเราว่า ‘ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำสิ่งที่อยากทำ’ อย่างเราเอง จุดเปลี่ยนของชีวิตคือคุณพ่อนอนหลับ แล้วเสียชีวิตไปเฉยๆ จากที่เราเคยเป็นเด็กเนิร์ดขี้กลัว เราเปลี่ยนเป็นคนที่พยายามใช้ชีวิตในแต่ละวันให้เหมือนเป็นวันสุดท้าย เพราะไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะได้ตื่นมาใช้ชีวิตต่ออีกหรือเปล่า และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นจริงๆ ของทุกเรื่องในชีวิตเราเลยค่ะ”
บทสนทนาของเรากับแมทจบลงด้วยความรู้สึกเต็มอิ่มอะไรบางอย่าง ในฐานะนักเขียน เราสนุกกับการคุยกับช่างภาพคนนี้ และในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่จินตนาการไม่ออกเลยว่าจะสามารถปลดเปลื้องเสื้อผ้าต่อหน้าเลนส์กล้องได้อย่างไร หลังบทสนทนานี้ เราพอจะจินตนาการออกได้หน่อยหนึ่งแล้วว่า… เหตุผลแห่งการเปลือยเปล่าต่อหน้าใครสักคนนั้นอาจจะมีอะไรซ่อนอยู่มากกว่านั้นก็เป็นได้
พิสูจน์อักษร: ชลดา สวนประเสริฐ
コメント