top of page

'The Brightest Future' interviewed by D1839 Magazine


Phayao Photography Biennale

The Brightest Future

เรื่อง : ธันวา ลุจินตานนท์ ภาพ : โศภิรัตน์ ม่วงคำ / Artcade

10 Jan 2022


  • ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่พะเยาได้มีเทศกาลภาพถ่ายเกิดขึ้นโดยฝีมือของ แมท – โศภิรัตน์ ม่วงคำ หรือเจ้าของแฟนเพจ “ผู้หญิง ถือกล้อง” และโป้ง – ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ ผู้ก่อตั้ง PYE SPACE และ ARTCADE ซึ่งเป็นเทศกาลภาพถ่ายครั้งแรกในพะเยาและนับแต่นี้เป็นต้นไป พะเยาจะมีการจัดเทศกาลภาพถ่ายทุกๆ สองปี โดยครั้งแรกมากับธีมที่มีชื่อว่า Invisible Voice หรือเสียงที่มองไม่เห็น โดยเทศกาลนี้ถูกคิดผ่านกระบวนการมากมายและผ่านการคัดสรรบรรดาช่างภาพต่างๆ ที่ต้องการพูดหรือมีอะไรบางอย่างอยากจะเอามาเล่าให้ผู้ชมได้ฟัง และสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือการเติบโตและโอกาสของการทำงานศิลปะในพื้นที่นอกเหนือจากกรุงเทพฯ ที่เติบโตขึ้น และมีความเป็นไปได้มากขึ้นในทิศทางน่ามีความหวัง

เปิดพื้นที่เปิดโอกาสสำหรับคนพะเยา
  • “เริ่มจากลูกศิษย์ไม่มีที่แสดงงาน มีส่งงานเฉยๆ พอส่งงานก็มีจัดแสดงเล็กๆ แล้วก็เก็บ บางคนก็เอาไปทิ้ง บางคนที่อาจารย์ซื้อไว้ก็เอาไปเก็บ พอทิ้งในที่นี้คือมันไม่มีคุณค่าอีกต่อไป แล้วทุกปีทางสาขาต้องจ้างรถมาขนไปทิ้ง บางส่วนที่เก็บไว้ก็โดนน้ำ ชื้น รา ปลวก สุดท้ายต้องทิ้งเพราะไม่มีที่เก็บไว้ แต่เราเห็นคุณค่าของงานที่ส่งเพราะมันมาจากความคิดและมันมีการลงทุนของคนทำ เราเลยรู้สึกว่าควรมีสเปซบางอย่างเอางานไปเก็บและแสดงงานได้ เลยเป็นที่มาของการทำ ARTCADE” โป้ง ซึ่งเป็น​อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะและการออกแบบ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา พูดให้เราฟังหลังจากนัดคุยกันผ่าน ZOOM ถึงที่มาตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าอะไรดลใจให้เขาคิดริเริ่มที่จะทำพื้นที่สำหรับจัดแสดงงานที่พะเยา

  • “ตอนแรกที่เห็นงานคุณแมทมาจัดแสดงที่นี่เมื่อหลายเดือนก่อนเราเห็นความเป็นไปได้ของงานโฟโต้ที่มันดึงดูดคนได้ และมันค่อนข้างที่จะเหมาะกับสเปซที่เรามี เราคุยกับคุณแมทตลอดว่ามีบรรดาช่างภาพที่สนใจอยากส่งงานมาแสดงที่พะเยามั้ย จริงๆ เราก็กังวลนะว่าเขาจะคิดไหมว่าทำไมต้องพะเยา แต่ผลตอบรับที่ได้มันกลับดีเพราะศิลปินทุกคนที่คุณแมทดีลมานั้นสนใจหมดเลย ตอนแรกก็ตั้งใจให้มันเป็นนิทรรศการเฉยๆ แต่คุยไปคุยมาด้วยศิลปินที่หลากหลายเลยจบที่การจัดเป็นเทศกาลเลย

  • “พอมันเป็นครั้งแรกเราก็มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่และงบประมาณ เลยคิดกันว่าไม่จำเป็นต้องเล่นใหญ่หรูหราตระการตา แล้วก็ทำเพื่อที่จะได้มีหน่วยงานมาเห็นเพื่อที่จะมีทุนในงานครั้งต่อๆ ไปเพราะมันจะเป็นจุดมุ่งหมายของการมาท่องเที่ยวก็ได้ด้วย เลยคุยกับคุณแมทว่าเราใช้ชื่อ เบียนนาเล่ ไปเลยดีมั้ย

  • “ซึ่ง Invisible Voice ก็มาจากที่ได้ตั้งคำถามกับอาจารย์โป้งว่าต้องการให้งานเทศกาลภาพถ่ายครั้งแรกของพะเยานั้นเป็นแบบไหน คำตอบที่ได้ คือ อยากเห็นงานที่หลากหลายไม่ใช่งานประเภทเดียวเพราะการถ่ายภาพไม่ควรมีแค่ประเภทเดียว เราก็… เอ๊ะ… เราจะพูดถึงแค่ความสวยงามในแต่ละประเภทของภาพถ่ายไหม แต่ไหนๆ จัดแล้ว ควรใส่เรื่องความร่วมสมัย (contemporary) ลงไปด้วยเลย เพราะในระยะสองปีที่ผ่านมา ก่อนการจัดงานเบียนนาเล่ พวกเราได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น และการรับรู้สิ่งรอบตัวในสังคมคงหล่อหลอมให้ศิลปินได้คิดและอาจจะอยากสื่อสารอะไรบางอย่างอยู่แล้ว” แมท ซึ่งทำหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์รับเชิญในงานนี้เสริมขึ้นมา

  • โป้งยังคงเล่าด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเรารู้สึกได้ถึงความสุขและอนาคตอันสว่างไสวของพื้นที่ต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมการจัดงานครั้งนี้ หลังจากกระแสตอบรับจากคนเข้าชมนั้นค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ด้วยดี เขายังเล่าให้เราฟังต่อว่าระยะเวลาสองปีของเบียนนาเล่มันจะช่วยให้สามารถมีเวลาเตรียมตัวได้ทั้งในเรื่องของการวางแผนงาน หาสปอนเซอร์​ และจากงานครั้งนี้มันก็เป็นเหมือนกระบอกเสียงให้คนเห็นด้วยว่าเราทำได้

  • “ในส่วนช่างภาพปีนี้เราไม่ได้ open call เราใช้วิธีเลือกผลงานจากคอนเนคชั่นจากแมทและผม ซึ่ง feedback ก็เกินคาดเพราะเราไม่คิดว่าศิลปินหรือคนในวงการเองนั้นจะสนใจงานเรามากขนาดนี้ อาจจะเพราะแกลเลอรีหรือพื้นที่อื่นเพิ่งกลับมาจัดอะไรได้ จากสองปีที่ผ่านมามันเหมือนโดนกดหัวไว้ด้วยมาตรการของรัฐ​และอื่นๆ”


เสียงที่มองไม่เห็น
  • “คำว่า Invisible Voice เกิดจากที่ตัวเราเคยไปอยู่ประเทศเยอรมนี แล้วมีคำนึงที่เราชอบโดนถามบ่อยๆ คือ ‘เธอมีนกอยู่ในหัวเหรอ’ เพราะบางทีอยู่ๆ เราก็ร้องเพลง หรือเต้น ซึ่งความหมายคือคนที่ชอบทำอะไรอย่างไม่สมเหตุสมผลหรือทำอะไรที่คนอื่นไม่เข้าใจ สรุปว่านกในหัวก็คือเสียงในหัวของพวกเรานั่นแหละ”

  • แมทเลยตั้งคำถามต่อเนื่องว่าในสองปีที่ผ่านมาที่เราไม่ได้พบเจอผู้คน ต้องอยู่แต่บ้านทำให้บางคนก็มีอาการซึมเศร้า ช่วงนี้คงเป็นช่วงที่พวกเราทุกคนได้ยินเสียงในหัวตัวเองชัดขึ้น เธอเลยไปถามหาคำตอบต่อว่าตอนนี้ศิลปินสนใจเรื่องอะไรกัน แล้วความกดดันของสังคมนั้นทำให้พวกเขาคิดหรืออยากพูดอะไร และแสดงออกมาเป็นงานที่ตอบโจทย์และสอดคล้องกับธีมงานนี้

  • เราเห็นได้ว่าช่างภาพหรือศิลปินในงาน Invisible Voice นั้นมีหลากหลายแนวมากๆ ไม่ว่าจะเป็น street, portrait, high-fashion, documentary ไปจนถึง fine art คือเรียกได้ว่ามีหลากหลายรสชาติผสมกันอยู่ในงานนี้แต่เราก็เลยสงสัยว่าคัดกันอย่างไร และมันเกาะเกี่ยวกันด้วยเหตุผลทางไหน

  • “เราเลือกศิลปินจากการดูว่าเอาศิลปินมาเพื่อต้องการสื่ออะไร เพราะด้วยธีมว่า Invisible Voice คืออยากให้ศิลปินได้มีโอกาสพูดถึงสิ่งที่อยู่ในใจ หรือความกดดันที่ถูกสังคมเราหล่อหลอมมา ไม่ได้คัดจากคอนเนคชั่นของเราอย่างเดียว” แมทอธิบาย “งานที่เราเลือกมาจัดแสดงที่นี่มันเป็นสิ่งใหม่ของที่นี่ เพราะที่นี่ไม่มีหอศิลป์เราเลยเลือกความหลากหลายของงานมาประกอบกับเรื่องที่ศิลปินอยากเล่า ไฮแฟชั่น แอ็บสแตร็กท์ สตรีท การถ่ายภาพด้วยมือถือ หรือจนถึงฟิล์มกระจกเพื่อเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ภาพถ่าย

  • “แล้วก็มีเกณฑ์ที่ว่าต้องการให้เด็กรุ่นใหม่มีแรงบันดาลใจ เช่น เราเลือกช่างภาพที่เป็น Fuji-X (สาขา fine art) แต่เราเลือกงานที่เขาใช้มือถือถ่ายภาพแทน เราอยากใช้งานของช่างภาพแสดงในแง่ของมุมมองสำคัญยังไง แล้วเอามาสื่อสารให้กับคนที่นี่ได้เข้าใจ หรืองานบัลเล่ต์ก็เอามาเพราะที่นี่ไม่มีโรงละคร”

  • ยังมีเรื่องราวของช่างภาพอีกคนที่แมทเล่าให้ฟังแล้วเราชอบมาก คือช่างภาพสตรีทซึ่งเขาอยู่ที่จังหวัดลพบุรีแล้วงานเขาคือถ่ายลพบุรีนั่นแหละ ถ่ายลิง ถ่ายนู่นถ่ายนี่ ซึ่งมันทำให้เธอนึกถึงตอนเธออยู่ที่เยอรมนี มักจะมีคนบอกว่าเธอถ่ายอะไรก็สวยเพราะเป็นประเทศเยอรมนี แต่พอเธอกลับมาที่ไทยเพื่อนช่างภาพที่เยอรมนีกลับบอกว่าถ่ายที่ไทยสวยเพราะมันคือที่ไทยอะไรแบบนี้ด้วย ซึ่งมันคือการต้องการจะสื่อสารกับช่างภาพยุคใหม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถถ่ายรูปได้ถ้าคุณมีมุมมอง และมีแพสชั่นไปกับมัน


อนาคตที่มองเห็น
  • ด้วยกระแสตอบรับที่ดีของงานในครั้งนี้ที่พะเยาทำให้มีตัวแทนและหน่วยงานจากจังหวัดอื่นๆ มองเห็นถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของการจัดแสดงงานภาพถ่ายในจังหวัดต่างๆ แมทถูกทาบทามให้ไปช่วยเหลือทั้งในภาคเหนือเองก็ดี อีสานก็มาไปจนครบทุกภาคก็ว่าได้ เราเลยตั้งข้อสังเกตถึงแรงกระเพื่อมที่กำลังเกิดขึ้นรวมไปถึงอนาคตของวงการภาพถ่ายกับทั้งคู่และอยากรู้ความคิดเห็นผ่านเลนส์ของพวกเขาที่เรียกได้ว่ากำลังคลุกคลีกับเรื่องดังกล่าวว่าเขาเห็นอะไร

  • แมทตอบเราก่อนว่า “ขอพูดเรื่องที่ได้จัดงานที่นี่ก่อนแล้วกัน เรารู้สึกว่าคนพะเยายังเวอร์จิ้นกับงานศิลปะอยู่ แล้วมีกรุ๊ปนึงเราประทับใจแบบมือจิกกระโปรงเลย เป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมปลาย คือพอเราพาทัวร์ชมงานเสร็จ น้องเขาเดินมาถามเราว่าทำไมเลือกพะเยา เราก็เลยเล่าให้เขาฟัง เขาก็บอกขอบคุณนะคะเพราะสมัยก่อนถ้าหนูจะมีความฝันหนูต้องไปที่อื่น เพราะงานนี้ทำให้หนูมีความฝันได้ที่นี่”

  • เราเห็นแมทน้ำตาคลอ ซึ่งตัวเราพอฟังแล้วก็ขนลุกไปด้วย อีกทั้งทำให้เราเริ่มคิดได้บ้างว่ามันมีพื้นที่อีกมากมายที่แสงมันส่องไปไม่ถึง

  • “กลับมาที่คำถามเรื่องอนาคตของวงการภาพถ่ายบ้านเรา เรารู้สึกว่าวงการภาพถ่ายในไทยมันไปได้อีกไกลเพราะว่าถ้าเทียบกับต่างประเทศเรายังไม่ไปไหนเลย แม้ว่าจะมีคนบอกว่าต่อไปจะเป็นมีเดียอื่นแต่ยังไงพื้นฐานคือภาพถ่ายนะที่เข้าถึงคนได้ง่าย ส่วนคนที่บอกว่ามันถึงจุดอิ่มตัวของโฟโต้อะ เราคิดว่าเขาหมายถึงเฉพาะที่กรุงเทพฯ หรือเปล่าเพราะว่าเราได้ไปจัดงานหลายภาค เราแทบจะเป็นคนแรกๆ ที่เป็นนิทรรศการโฟโต้ของที่นั่น เราเลยคิดว่าจะมาบอกว่าอิ่มตัวได้ยังไงเพราะมันยังไม่เริ่มเลยด้วยซ้ำ

  • “หลังจากงานนี้ก็มีหลายจังหวัดติดต่อมาว่าเอออยากให้มาทำให้จริงๆ ส่วนตัวแล้วเราก็อยากเดินทางในสายศิลปินมากกว่า แต่ถ้าการกระทำของเรานั้นขับเคลื่อนวงการโฟโต้หรือศิลปะได้เราก็ยินดีที่จะทำ


  • “เราเห็นภาพนี้ตั้งแต่พะเยารามาที่ได้จัดไปเมื่อตอนต้นปี 2564 พื้นที่ที่เข้าถึงง่ายมันมี give and take ซึ่งฝั่งเรามี take อยู่แล้วคือเด็กเราได้มาจัดแสดงงาน แล้วพอเราเห็นนักเรียนนักศึกษาคณะอื่นมา รวมถึงคนทั่วๆ ไปแชร์งานกันต่อเรารู้ได้ทันทีว่าที่มันน่าจะไปได้ไกลมาก และยังส่งไปได้ไกลอีกเรื่อยๆ” โป้งตอบเราต่อหลังจากแมทพูดจบไม่นาน

  • สุดท้ายคือเราเห็นได้ว่าอนาคตของการทำงานศิลปะ และพื้นที่สำหรับศิลปินนั้นมันยังมีหนทางที่สดใสรอเราอยู่แบบแน่นอน เพียงแต่มันอาจต้องใช้เวลาสำหรับการเดินทางและสร้างพื้นฐานความเข้าใจให้กับคนทั้งประเทศและช่วยกันกระตุ้นความเป็นไปได้ในพื้นที่ทุกจังหวัด ซึ่งพะเยาโฟโต้เบียนนาเล่นี้กำลังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่จะช่วยผลักดันงานของช่างภาพไทยให้ไปสู่สายตาของคนทั่วไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจในวัฒนธรรมของงานศิลป์ในอนาคต และเพื่อที่จะได้เป็นรากฐานอันสำคัญของศิลปินในภายภาคหน้า


– Invisible Voice – Phayao Photography Biennale 2021-2022 เทศกาลภาพถ่ายพะเยา 2564-2565 Curated by 𝗔𝗥𝗧𝗖𝗔𝗗𝗘 & โศภิรัตน์ ม่วงคำ (ผู้หญิง ถือกล้อง) จัดแสดงในหลายพื้นที่ทั่วตัวเมืองพะเยา (อาร์(ต)เขต ชั้น 2 ตลาดอาเขตพะเยา, Sippin Cafe’ ถนนราชวงศ์, Lakeland Cafe ถนนปราสาท, PYE Space, ห้องศิลป์มณีรัตน์ และพื้นที่สาธารณะริมกว๊านพะเยา จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2564 – 30 มกราคม 2565 อาร์(ต)เขต เปิดให้เข้าชมทุกวัน 10.00-17.00 น. หยุดทุกวันจันทร์ *สถานที่อื่นๆ เปิดให้เข้าชมตามเวลาเปิด/ปิดของทางร้าน*

พิสูจน์อักษร : ชลดา สวนประเสริฐ


Featured Posts
Recent Posts
Search By Tags
Follow Us
  • Facebook Classic
  • Twitter Classic
  • Google Classic
bottom of page