เรือนร่างเปลือยเปล่า ของ SOPHIRAT PHOTOGRAPHY
จะศิลปะหรืออนาจาร “มนุษย์” ล้วนเป็นผู้หยิบยื่นนิยามต่าง ๆ มาสวมให้ “มนุษย์อีกคน” หาใช่พระเจ้าที่ไหนไม่
ขณะที่บ้านเมืองเรา ยังมีมนุษย์ผู้อ่อนไหวต่อเรือนร่าง “ชิซูกะ” เปลือยเปล่าท่อนบนอาบน้ำ เผยให้เห็นเม็ดลูกเกด พวกเขาคงรับไม่ได้ (คงกลัวลูกหลานกระจู๋โด่) ที่เผยให้เห็นถึงเรื่อนร่างอันชั่วร้ายต่อศีลธรรมอันดี นั่นก็คือ หัวนมชิซูกะ
เราคงไม่ต้องเอาภาพถ่ายชุดนี้ไปเทียบกับมัน(หัวนมชิซูกะ) ว่าเรือนร่างที่เปลือยเปล่าในอัลบั้มภาพถ่ายนี้ จะถูกผู้มีอำนาจตีตราว่าคือเรือนร่างประเภทใด
หากลองเอาเรือนร่าง (Body) เข้าไปสวมกอดกระบวนทัศน์แบบอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Social Body (สังคมและตัวตนของประชาชน) Abstract Body (ร่างในกระบวนทัศน์แบบนามธรรม) Sexual Body (ร่างที่นำเสนออัตลักษณ์แห่งตน)
เราจะสามารถเข้าใจ หรือตีความ และนำมันมาใช้ให้เกิดความรู้ต่อยอดได้อย่างไร ในเมื่อเกือบทุกระนาบในสังคมไทย ได้ถูกเรือนร่างใหญ่ (Political Body) สร้างอาภรณ์แห่งวาทกรรมถักทอสวมทับเรือนร่างของประชาชนได้อย่างแนบสนิทดีงาม
ใช่หรือไม่? อาภรณ์แห่งวาทกรรม ที่ถักทอสวมทับเรือนร่างของผู้คนได้อย่างแนบสนิทจากเรือนร่างใหญ่ (Political Body) นั้นก็คือโซ่ตรวนของเรือนร่างใหญ่
ไม่ต่างจากการต้องถูกบังคับให้สวมใส่แต่ชุดผ้าลายไทย ที่ผลิตออกแบบขึ้นมา ตั้งแต่ยุคสร้างชาติ
"ในเมื่อเราเป็นประเทศที่เป็นพุทธเป็นส่วนใหญ่นะ เขาเขียนคำว่าศีลธรรมอันดี ไม่รู้จักคำว่าศีลธรรมอันดีหรอ ..
ถ้าทำอะไรผิดศีลธรรมอันดีมันก็คืออะไรล่ะ ศีลธรรมคือความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของประเทศชาติ ถ้าไม่เข้าใจคำนี้ไม่ต้องทำอย่างอื่นหรอก
...ระบบโซเชียลมีเดียอันตราย ไม่ว่าจะขายยาเถื่อน 'ภาพโป๊' ใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม หมิ่นประมาท บิดเบือน สิ่งเหล่านี้จะพิจารณาในเรื่องที่สำคัญ โดยมีคณะกรรมการไปพิจารณา"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง พวกต่อต้าน พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว http://prachatai.com/journal/2016/12/69333
หากเป็นดังนั้น ใช่หรือไม่ ?ใครเปลือยกายถ่ายภาพโป๊ ถือว่าทำผิดศีลธรรม ความมั่นคงของประเทศชาติ
..........
SOPHIRAT PHOTOGRAPHY หรืออีกนาม ผู้หญิง ถือกล้อง ช่างภาพสาวจบโทวิทยาศาสตร์สารสนเทศจากมิวนิค ประสบการณ์ยาวเหยียด เคยทำงานเป็นแอดมินบริษัทอุปกรณ์เครือข่าย เคยเป็นอาสาสมัครหาญาติให้ศพผู้เคราะห์ร้ายจากสึนามิ (IOM) เคยเป็นผู้จัดการฝ่ายขายระหว่างประเทศบริษัททำซีดี เคยเป็นติวเตอร์ เคยเป็นผู้จัดการร้านสปา เคยดูแลและจัดหาศิลปินเข้าค่ายเพลง เคยออกแบบแพคเกต ฯลฯ
ก่อนจะมาหลงเสน่ห์ภาพถ่ายนู๊ดและบันทึกมันด้วยขบวนการของภาพถ่าย และเริ่มแสดงผลงานตามแกลอลี่ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา
เธอกล่าวถึงนิยามสั้น ๆ ต่อผลงานของตัวเองว่า “ภาพถ่ายเธอนั้น แสดงความเป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างถึงที่สุด ทั้งยังเชื่อว่ามันดีต่อใจ”
และในหนังสือ The Female Nude: Art, Obscenity and Sexuality, Linda Nead มีคำถามเกี่ยวกับการเปลือยเรือนร่างของหญิงสาวที่ว่า
“ภาพโป๊เปลือย มีผลอันตรายร้ายแรงต่อผู้ดูหรือไม่”
ซึ่งนั่นได้ครอบงำทัศนะต่าง ๆ ของคนในศตวรรษที่ 20 ที่มีต่อภาพโป๊เปลือย อันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของข้อถกเถียงที่เก่าแก่ บนเรื่องพลังอำนาจเกี่ยวกับภาพตัวแทนโดยทั่ว ๆ ไป
มีการคิดประดิษฐ์ภาพโป๊เปลือยอันหลากหลายวิธีการ หลากหลายเป้าประสงค์ หลากหลายวิธีคิด ทำให้การนิยามความหมายเกี่ยวกับเรื่องสุนทรียภาพของเรือนร่างที่เปลือยเปล่านั้นมีความแตกต่างหลากหลาย
'แมรี่ ดักลาส' เน้นที่การใช้เรือนร่างเป็นสัญลักษณ์ในการทำความเข้าใจโครงสร้างและระเบียบของสังคม
'มิเชล ฟูโค' ชี้ให้เห็นว่า อำนาจรัฐสามารถแทรกแซงเข้ามาบังคับควบคุมถึงภายในเรือนร่างมนุษย์ได้อย่างแยบยล
'ปิแอร์ บูร์ดิเยอ' มองเห็นว่าเรือนร่างมนุษย์ เป็นทุนที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งที่ชนชั้นสูง และชั้นกลางในสังคมสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ทางชนชั้นของตนเองได้อย่างมีรสนิยม
ส่วน 'นอร์เบิร์ท เอเลียส' มองในเชิงประวัติศาสตร์ และเสนอข้อคิดว่า กระบวนการสร้างอารยะธรรม ของยุโรปคือการปราบให้เรือนร่างของมนุษย์เชื่องลง จากการเป็นร่างป่าเถื่อน ที่เต็มไปด้วยพละกำลังรุนแรง ให้กลายเป็นเรือนร่างอารยะที่สุภาพ เก็บงำความรู้สึกไว้ภายใน และมีกรรมวิธีควบคุมร่างกาย อย่างประณีตและประดิดประดอย
โดยรวมๆ แล้วทุกคนกล่าวถึง การสร้างวาทกรรมทางสังคมต่อเรือนร่างมนุษย์ โดยแสดงให้เห็นถึง “ร่างกายถูกสร้าง และหล่อหลอมมาด้วยเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ในแต่ละช่วงเวลาของประวัติศาสตร์มนุษย์"
..........
ในบ้านเรานั้น เรือนร่างเปลือยเปล่าเผยให้เห็นในผลงานจิตรกรรมฝาผนังของท้องถิ่นล้านนาบ้านเรา ภาพเรือนร่างเปลือยท่อนบน ระหว่างหญิงชายพบเห็นได้ทั่วไป ไม่ต่างจากภาพผ้าโจงกระเบนหลุดลุ่ย มองเห็นอัวยวะเพศประเจิดประเจ้อทั้งหญิงชาย ก็สามารถพบเห็นกันได้ในงานจิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่าง ๆ
ภาพที่ปรากฏให้เห็นเหล่านี้ ถือเป็นภาพตลกของพวก 'ตัวกากตัวตีนกำแพง' อันหมายถึงภาพตัวชาวบ้าน ที่ช่างไทยสมัยโบราณแสดงให้เห็นถึงภาพสะท้อนวิถีปกติของสามัญชน ไม่ใช่สิ่งที่ทำลายความมั่นคงชองชาติ
ขณะที่อีกด้าน ภาพของชนชั้นสูงในจิตรกรรมฝาผนังไทย ที่โดยมากจะสวมใส่เครื่องทรงครบคลุมชุดมิดชิด แต่บางภาพถูกเขียนให้ ตัวนางจำนวนหนึ่งสวมมงกุฎ เปลือยกายท่อนบนลงเล่นน้ำ เช่นดังที่เคยปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังที่วัดทองนพคุณ
ทางด้านประวัติศาสตร์ภาพถ่ายไทยภาพนู๊ดของ ม.ล.ต้อย ชุมสาย (พ.ศ. 2449 - 2504) ก็คือตัวแทนเรือนร่างเปลือยเปล่าของชนชั้นสูงได้เป็นอย่างดี
และหากวิเคราะห์คู่กันไปกับงานวิชาการด้านสังคม-วัฒนธรรมต่าง ๆ แล้ว ใช่หรือไม่ว่า นั่นก็คือภาพสะท้อนถึงวิถีชีวิตไทย ที่มีความเป็นอยู่คล้าย ๆ กันระหว่างเจ้านายกับไพร่สามัญชน ซึ่งมิได้มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน
ภาพเหล่านี้ปกติแล้ว ได้แพร่กระจายไปสู่ผู้ที่มีค่านิยมไม่แตกต่างกันนักระหว่างชนชั้นล่าง ชนชั้นกลาง และกระทั่งถึงชนชั้นสูง
เพียงแต่ว่า ชนชั้นกลางและชนชั้นสูงมักนิยมบริโภคสิ่งที่ได้การประทับตราว่าเป็นผลงานทางด้านศิลปะมากกว่าเท่านั้น
..........
'ร่างกายและวาทกรรมบนร่างกาย' นั้นมีอยู่ในหลายมิติ และถูกนำมาใช้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น Political Body, Sexual Body, Social Body, Spatial Body ล้วนแล้วแต่เป็นการนำเอา วาทกรรมต่างๆ เช่น สังคม การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา ความต้องการทางเพศ การแพทย์ มาวางทาบลงบนร่างกาย
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดวิธีใช้ร่างกาย เข้าใจร่างกาย หรือ ควบคุมร่างกาย จากหน่วยเล็กที่สุดของพื้นฐานทางสังคม คือร่างกายของแต่ละคน (Individuality) ไปสู่สังคมโดยรวม (Society)
อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่เคยนำเอาวาทกรรมบนร่างกาย มาสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของ สังคมไทยได้อย่างแยบยล
ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์พูดถึง เรื่องพื้นที่สาธารณะ และพื้นที่ส่วนตัว จากมุมมองของการวิเคราะห์ การประกวด (เรือนร่างของ) นางนพมาศ ซึ่งยังถูกบังคับให้อาบน้ำในแม่น้ำยม (ปลอม) โชว์ จากบทความในมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง "ไม่เปลื้องผ้า แต่เปลื้องอำนาจ"
ส่วนร่างกายทางสถาปัตยกรรม (Architectural Body) ที่จับต้องได้ ที่เข้าไปใช้ได้จริง และรวมไปถึง ร่าง (Building) ที่เกิดขึ้นจริง ๆ ตัวอย่างโครงการ หอแสดงงานศิลปะสมัยใหม่ ที่ประกวดแบบเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว เป็นที่จับตามองของสถาปนิก และประชาชน
ก็ยังสามารถเปลี่ยนไป และถูกลดคุณค่าลงได้อย่างไม่น่าเชื่อสายตาตัวเอง
คำถามก็คือ อะไรคือ ร่างกายและวาทกรรมบนร่างกายของคนในยุคนี้ ?
คำตอบ อาจจะต้องไปหาตามสถานเสริมความงาม, ศูนย์สุขภาพต่าง ๆ , สถานที่ออกกำลังกายในร่ม, การประกวดนางงาม-นายงาม ไปจนกระทั่งกระทั่งเรือนร่างของโสเภณี
ความงามและกระบวนทัศน์แบบใหม่ ๆ บนวาทกรรมบนร่างกาย มันเป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถใช้เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นถึง ภาพร่างกายของสังคมเราได้เป็นอย่างดีว่า กำลังดำเนินไปในทางใด
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วาทกรรมบนร่างกายของคนไทยมีมาช้านานแล้ว แต่อาจจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า กระบวนทัศน์ นี้ไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้น หรือถูกนำมาหยิบยกให้เป็นประเด็นศึกษาทางวงการวิชาการ อย่างจริงจัง
เพราะอาจเนื่องด้วยว่า วิธีการเข้าใจ ร่างกาย ในวงการศึกษาของไทยยังยึดอยู่กับรากฐานของ เนื้อหาและวิธีการสอนเพศศึกษาในโรงเรียนที่อาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดการเรียนรู้ และเข้าใจที่แตกฉานในวาทกรรมบนร่างกาย ในมุมมองที่ต่างออกไป
ดังนั้น ร่างกาย และวาทกรรมบนร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมวดสุนทรียศาสตร์ในบ้านเราจึงถูกเปลี่ยนแปลงและลดคุณค่าของ มิติอันหลากหลาย ที่สะท้อนให้เห็นถึงสังคม และวัฒนธรรม ให้กลายเป็นแค่สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ (Objects of Desire) หรือพูดง่ายๆ คือ เป็นสิ่งลามกอนาจาร (Pornography)
ย้อนกลับไปที่คำถามแรกเริ่มที่ว่า เราจะสามารถเข้าใจ หรือตีความ และนำร่างกายและวาทกรรมบนร่างกาย มาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร ในเมื่อเกือบทุก ๆ ระนาบในสังคมไทย(ตั้งแต่เกิดยันตาย) ทุกคนได้ถูกเรือนร่างใหญ่ (Political Body) สร้างอาภรณ์แห่งวาทกรรมถักทอสวมทับเรือนร่างของประชาชนได้อย่างแนบสนิท
คำตอบอาจจะอยู่ที่ว่าคุณสมยอมต่อมันหรือเปล่า? เพราะถ้าคำตอบคือ "สมยอม" พร้อมน้อมรับ อาภรณ์แห่งรัฐจะแนบเนื้อ ในนามของความดี คนดีจะเชิดชูคุณ
แต่หาก“ไม่สมยอม” ก็จงเปลื้องอาภรณ์ของคุณออก และตาม ผู้หญิง ถือกล้อง มาบันทึกภาพ สุดท้ายก็จงน้อมรับเสียงก่นด่าจากคนดีรอบข้างอย่างอดทน
..........
ผลงานเพิ่มเติม ผู้หญิง ถือกล้อง Miz Sophiz http://sophiratm.wixsite.com/sophiratphotography
วาทกรรมบนร่างกายและสุนทรียศาสตร์ของความเปลือยเปล่า โดย สันต์ สุวัจฉราภินันท์ http://v1.midnightuniv.org/midnightweb/newpage2.html
บทสรุปวัฒนธรรมทางสายตา : วัฒนธรรมที่ไม่มีหู โดย สมเกียรติ ตั้งนโม http://v1.midnightuniv.org/midnight2545/document95259.html
ภาพนู๊ดของ ม.ล.ต้อย ชุมสาย http://www.manager.co.th/Celebonline/ViewNews.aspx…